เทศกาลเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง

Summer Festival in Japan that more than a million tourists visited (2nd)

By May 30, 2016 No Comments

เทศกาล ฮากาตะ กิออน ยามากาสะ 博多祇園山笠

ครั้งนี้เรามาทำความรู้จักกับเทศกาล ฮากาตะ กิออน ยามากาสะ กันดีกว่าค่ะ เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่เขตฮากาตะ อำเภอฟุคุโอกะ จังหวัดฟุคุโอกะ เป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นหนุ่มๆชาวเมืองฮากาตะนั้นได้โชว์ความกล้าหาญชาญชัย ต่อหน้าสาธารณชน เทศกาลนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า คุชิดะจินจะ กิออน เรไทไซ มีการสืบทอดเทศกาลมาถึง 700 กว่าปีมาแล้ว และมีชื่อเสียงพอๆกับเทศกาล ฮากาตะโดนทาคุ ซึ่งทั้งสองเทศกาลนี้เป็นตัวแทนเทศกาลของเมืองฮากาตะ

มาดูประวัติความเป็นมาของเทศกาลฮากาตะ กิออน ยามากาสะ กัน

ในสมัยยุค คามาคุระ ที่เมืองฮากาตะนั้นได้มีโรคระบาดเกิดขึ้น วัดโจเทนจิ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส โชอิจิ โคคุชิ นั้น ได้ขึ้นนั่งบนแท่นบูชาที่ใช้ผู้คนในเมืองนั้นแบกพร้อมกับได้พรมน้ำมนต์และแห่ไปทั่วเมือง เพื่อเป็นการปัดเป่าและล้างโรคระบาด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลฮากาตะ กิออน ยามากาสะนั่นเอง

ต่อมาในยุค อัตสึจิโมะโมะยามา ได้มีการสู้รบกันระหว่าง เจ้าเมืองโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ และ เจ้าเมืองชิมัตสึชิ ทำให้เมืองฮากาตะนั้นถูกไฟไหม้วอดวายและกลายเป็นทุ่งราบ เจ้าเมืองโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามนั้นได้มีฟื้นฟูบูรณะเมืองฮากาตะขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยมีการแบ่งเขตเมืองต่างๆขึ้น เรียกการแบ่งเขตเมืองนี้ว่า นากาเระ(流)ซึ่งการแบ่งเขตเมืองต่างๆที่เรียกว่า นากาเระ นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งทีมในงานเทศกาล ฮากาตะ กิออน ยามากาสะ ซึ่งปัจจุบัน แบ่งเป็น 7 ทีมหรือ 7 นากาเระ

และในช่วงยุคเอโดะ ได้มีการเริ่มจัดการแข่งขันระหว่าง 2 นากาเระ ขึ้นในเมือง ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้เข้าร่วมแข่งและผู้ชม จึงได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกปีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เรียกการแข่งขันนี้ว่า โออิยามะ และที่พิเศษไปกว่านั้น ในงานเทศกาลนี้ที่มีการตะโกนว่า โอกโชอิ ซึ่งเป็นเอกลักษ์ณ์ที่โดดเด่น ทำให้ได้รับเลือกให้เป็นเสียงที่สำคัญที่ควรอนุรักษ์1ใน100อันดับในปี 1996 และที่สำคัญคือได้มีการกำหนดเทศกาลฮากาตะ กิออน ยามากาสะ ให้เป็นมรดกที่สำคัญทางทรัพย์สินวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ของจังหวัดอีกด้วย

ผู้ที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในเทศกาลนี้ได้

ผู้ที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในเทศกาลนี้ได้ต้องเป็นผู้ชายและต้องอยู่สังกัดทีม นากาเระ ใด นากาเระหนึ่งเท่านั้น และต้องได้รับการคัดเลือกเป็นอย่างดีจากทีมนากาเระนั้นๆอีกด้วย ส่วนนักท่องเที่ยวนั้นสามารถชมการแสดงได้อย่างห่างๆตามสถานที่กำหนดไว้ได้เลยค่ะ

ตารางการจัดงานในปี 2016

ระยะเวลาการจัดงาน

1-15กรกฎาคม 2016

ตารางกิจกรรมหลักๆที่น่าสนใจ
  • วันที่ 1-14กรกฎาคม
  • วันที่ 12กรกฎาคม
  • วันที่ 13กรกฎาคม
  • วันที่ 14กรกฎาคม
  • วันที่ 15กรกฎาคม

สิ่งที่น่าสนใจ

วันที่ 1-14 กรกฎาคม เรียกคาซาริยามาคาซาโคไค

เป็นวันที่มีการจัดโชว์แสดงเกี้ยวขนาดยักษ์ที่มีการประดับตกแต่งอย่างอลังการด้วยอเนเมะชื่อดังและหุ่นตุ๊กตาเป็นต้น ตามจุดต่างๆและสามารถเข้าชมได้ถึง 14 จุด ซึ่งเกี้ยวเหล่านั้นมีความสูงถึง 10 เมตร ในช่วงค่ำก็จะมีการเปิดไลท์อัพขึ้นทำให้ได้ชมบรรยากาศที่แตกต่างกันได้อีกด้วย

วันที่ 12 กรกฎาคม โออิยามากาสะ นาราชิ

วันนี้มีการซ้อมแบกเกี้ยวเหมือนวันจริง แต่มีระยะทางการวิ่งที่สั้นกว่า นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสถึงพลังความเป็นชายของหนุ่มเมืองฮากาตะได้ จึงไม่ควรพลาดแม้แต่วินาทีเดียว

นอกจากนี้ในวันนี้ยังมีพิธีที่เรียกว่า คุชิดะอิริ พิธีนี้หนุ่มๆทั้งหลายจะเรียงแถวเบียดกันแล้วเบ่งกล้ามเพื่อทำโชว์ความแข็งแรงเพื่อให้ถูกเลือกเป็นผู้ทำหน้าที่แบกเกี้ยวนั่นเอง ทำให้ผู้เข้าชมได้ลุ้นและตื่นเต้นไปตามๆกันเลยทีเดียว

เราสามารถเข้าดูได้จากอัฒจันทร์แต่ต้องมีบัตรนั่งเท่านั้นค่ะ ส่วนใครที่หาซื้อบัตรไม่ทันเนื่องจากผู้เข้าชมเยอะมากๆ ก็อย่าเสียใจไปค่ะ ถึงจะไม่ได้เข้าไปชมของจริงในงาน แต่สามารถนั่งชมถ่ายทอดสดจากหน้าจอทีวีด้านนอกอาคารได้ค่ะ

วันที่ 13กรกฎาคม ชูดันยามามิเสะ

เป็นวันที่นักแข่งทั้ง 7 ทีม ได้เดินทางไปรวมตัวกันที่อำเภอฟุคุโอกะ งานเริ่มในเวลาประมาณ 15:30 น. จะเห็นนักท่องเที่ยวมารอชมกันเป็นจำนวนมาก ขนาดก่อนงานเริ่ม 1 ชั่วโมงก็แทบจะไม่มีทางเดินกันเลยทีเดียว หากใครอยากชมใกล้ๆและไม่อยากไปเบียดผู้คนเยอะๆก็ควรไปจองที่กันแต่เนิ่นๆนะคะ

วันที่ 14กรกฎาคม นากาเระกาคิ

เป็นวันที่มีการซักซ้อมเป็นวันสุดท้ายก่อนจะถึงวันแข่งจริง หากใครได้มีโอกาสไปวันนี้ก็อาจจะมีโอกาสได้ชมการซ้อมอย่างขมักเขม้นของผู้เข้าร่วมแข่งขัน อย่าลืมแชะภาพสวยๆกันนะคะ

วันที่ 15 กรกฎาคม โออิยามากาสะ

วันนี้เป็นวันสุดท้ายและถือเป็นไคลเมกซ์ของงานเลยทีเดียวค่ะ ในวันนี้ก่อนฟ้าสางประมาณตี 04:59 น. ทั้ง 7 นากาเระ มีการรวมตัวกันหน้าศาลเจ้าคุชิดะ

ทีมแรกก็จะเป็นตัวแทนของทั้ง 7 ทีม ในการทำพิธีเปิดโดยการเข้าไปในศาลเจ้า และพาทีมแบกเกี้ยววนรอบเสาธงเสร็จแล้วก็ขับร้องเพลง อิไวอุตะ「祝い唄」อย่างพร้อมเพรียงกัน

หลังจากนั้นก็มีการแบกเกี้ยววิ่งไปในตัวเมืองฮากาตะ(ตามเส้นทางที่กำหนดไว้) หลังจากนั้น ทั้ง 6 ทีมที่เหลือก็แบกเกี้ยววิ่งตามกันไป ตามลำดับ ทุก 5 นาที โดยมีระยะทาง 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการแข่งขันว่ากันเรื่องความเร็ว ว่าใครวิ่งไปถึงเส้นชัย กี่นาที

ดูเส้นทางตามแผนที่ข้างล่างนี้ได้เลยค่ะ

ยะได แผงลอย

นักท่องเที่ยวสามารถชมเทศกาลพร้อมกับหาของกินอร่อยๆทานกันก็สนุกไปอีกแบบค่ะ ซึ่งในงานเทศกาลนี้มีถึง 200กว่าร้าน สามารถไปเที่ยวชมกันได้ ตามแผนที่ข้างล่างนี้

ฟุคุโอกะ・ยะได MAP(บริเวณใกล้กับ Nakasu・ใกล้กับสะพานHaruyoshi)
ฟุคุโอกะ・ยะได MAP(บริเวณใกล้กับ Nakasu1Chome)

ก่อนไปควรเตรียมตัวยังไง

เป็นเทศกาลที่มีการใช้น้ำประกอบการจัดงานด้วยดังนั้นนักท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ด้วยนะคะ ควรมีเตรียมเสื้อผ้าเพื่อเปลี่ยน และควรเตรียมเสื้อกันฝนเผื่อฝนตกด้วย ไม่ควรนำร่มไปเพราะคนเยอะอาจจะไปถูกตัวผู้อื่นและได้รับการบาดเจ็บได้ และควรมีการป้องกันน้ำเข้าทั้งโทรศัพท์ กล้อง ต่างๆ ด้วย และหากต้องการดูเทศกาลใกล้ๆหรือ อยากได้สถานที่ชมดีๆ ก็ควรไปจองที่แต่เนิ่นๆ

วิธีการเดินทาง

จากสถานีรถไฟJR Hakata เดินประมาณ 12 นาที

จากสถานีรถไฟGion เดินประมาณ 5 นาที

สถานที่จัดงาน > บริเวณศาลเจ้าคุชิดะและตามพื้นที่ต่างๆในเมืองฮากาตะ

ที่อยู่

1-41Kamikawabata-Cho Hakata-Ku Fukuoka-Shi Fukuoka-Ken 福岡県福岡市博多区上川端町1-41 MAP

โทรศัพท์ > 092-291-2951 ศาลเจ้าคุชิดะ

URL > http://www.hakatayamakasa.com/

สรุป

เป็นยังไงกันบ้างค่ะ ใครเกิดสนใจอยากไปเที่ยวงานนี้กันแล้วบ้างเอ่ย เทศกาลนี้มีการจัดงานถึง 15 วัน ซึ่งเป็นงานที่สามารถชมได้อย่างไม่อั้น และได้รับความนิยมพอๆกับเทศกาลอะโอโมริ เนะบุตะ เลยก็ว่าได้ เพราะว่าเทศกาลนี้มีผู้เข้าชมถึง สามล้านคนเลยทีเดียว

และเป็นเทศกาลที่เป็นของหนุ่มทั้งหลาย ซึ่งเราสามารถเห็นหนุ่มทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ มีการใส่ชุดฮาปปิ และกางเกงฟุนโดชิ ทำให้ยิ่งสามารถเห็นความเป็นชายมากยิ่งขึ้น และสามารถชมได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย ใครที่มีแผนไปงานนี้แล้วล่ะก็ ยังไงก็ขอให้เที่ยวให้สนุกและถ่ายรูปสวยๆมาฝากกันบ้างนะคะ

Leave a Reply