ที่พักบทความสาระน่ารู้หอพัก ห้องเช่า

วิธีการหา ห้องพักในญี่ปุ่น ด้วยตัวเองอย่างชาญฉลาด

By November 27, 2017 No Comments

วิธีการหา ห้องพักในญี่ปุ่น ด้วยตัวเองอย่างชาญฉลาด

เพื่อนๆหลายคนที่มาอยู่ญี่ปุ่น เคยมีประสบการณ์การหา  ห้องพักในญี่ปุ่น  ด้วยตัวเอง กันบ้างมั้ยเอ่ย ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์การหา ห้องพักในญี่ปุ่น ที่แสนจะยุ่งยาก ในญี่ปุ่นมาแล้ว ระบบการเช่าห้องพักของที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย จะมีเงื่อนไขต่างๆเข้ามา
บางที่เจ้าของบ้านก็ไม่รับชาวต่างชาติด้วยนะ(แอบน้อยใจนิดหน่อย)แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ
เพราะห้องพักในญี่ปุ่นมีให้เลือกเยอะแยะมากมาย แต่ไม่ต้องรีบนะคะ เลือกห้องที่ถูกใจและตรงตามเงื่อนไขที่เราได้วางไว้ เพราะเราจะต้องอยู่กับมันไปอีกนานเป็นปี สองปี หรือ นานกว่านั้นก็ได้

apartment5apartment4apartment1

ย้ายบ้านแต่ละทีเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อยๆเลย ไหนจะค่าเช่าบ้าน ค่ามัดจำ ค่ากินเปล่า ค่าเช่าล่วงหน้า ค่าจัดหาบ้าน ค่าบริษัทประกัน ค่ากุญแจ ค่าจิปาถะฯลฯ ดังนั้นก่อนจะย้ายบ้านเรามาดูกันค่ะว่ามีวิธีการหาห้องพักอย่างชาญฉลาดยังไงบ้าง

1.ก่อนอื่นเลยเราจะต้องตัดสินใจก่อนว่าจะย้ายช่วงไหนดี

apartment26

หลายคนสงสัยว่าทำไม ก็เพราะที่ญี่ปุ่นจะย้ายบ้านเขาจะมีช่วงถูกและแพง เรามาดูกันว่าช่วงไหนแพงและช่วงไหนถูกกันค่ะ
●ช่วงเวลาที่แพงสุดคือ เดือนมีนาคมและเดือนเมษายน
●ช่วงเวลาที่ถูกสุดคือ เป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน(ช่วงถูกเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม~เดือนกุมภาพันธ์)

charge-field

*กราฟแสดงค่าใช้จ่ายในการย้ายบ้าน (ข้อมูลปี2015-2016)

จากข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลย้ายบ้านของคนญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว เพราะเชื่อกันว่าเป็นช่วงที่เหมาะแก่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน ทำงาน และสังคมใหม่ๆ ดังนั้นใครจะย้ายบ้านในช่วงนี้เตรียมตัวเตรียมใจกับราคาแพงหูฉี่ได้เลย หากใครหลีกเลี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องย้ายบ้านช่วงนี้แล้วล่ะก็ แนะนำให้เตรียมจองบริษัทขนของแต่เนิ่นๆเลย เพราะไม่งั้นเดี๋ยวจะเต็มก่อนจองไม่ทันคนอื่นเขา
ส่วนใครที่ไม่มีปัญหาอะไรก็รอย้ายบ้านเดือนอื่นที่ไม่ค่อยมีคนย้ายกันดีกว่า โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน เพราะเราจะไร้คู่แข่งและได้ราคาค่าย้ายบ้านที่ถูกกว่าเดือนอื่นอีกด้วย

2. ตั้งเงื่อนไขการเช่าห้อง

①ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องเสีย
ค่าเช่าห้องพักเราต้องดูว่าเหมาะกับฐานะตัวเองหรือไม่ ไม่แพงมากเกินกำลัง และไม่ถูกจนดูน่ากลัวเกินไป  และที่ญี่ปุ่นการเช่าห้องพักจำเป็นต้องผ่านตัวกลาง คือบริษัทจัดหาบ้านหรือที่ญี่ปุ่นเรียกฟูโดซังยะ「不動産屋」ส่วนค่าใช้จ่ายไม่ใช่แค่ค่าเช่าห้องหรือค่าประกันเท่านั้นนะคะ มีค่าแรกเข้า เรามาดูกันว่า ค่าแรกเข้าประกอบด้วยอะไรบ้าง

ค่าแรกเข้า<初期費用>
仲介手数料(Chukai Tesuryo) คือ ค่าดำเนินการของบริษัทจัดหาบ้าน → จำเป็นต้องจ่ายมากสุดก็เท่ากับค่าเช่าบ้าน 1 เดือน (บางที่ก็เสียแค่ครึ่งราคาของค่าเช่าบ้าน หรือไม่เสียเลยก็มีแล้วแต่บริษัท)

家賃(Yachi) ห้องพัก 、管理費(Kanri Hi)ค่าสวัสดิการ 、駐車場代(Chushajo dai) ค่าที่จอดรถ → คือ ค่าห้อง1เดือน+ค่าสวัสดิการ ทำความสะอาด จัดการความเรียบร้อยของอาคาร+ค่าที่จอดรถ(กรณีมีรถยนต์)

礼金(Reikin)  คือ เงินให้เปล่า/เงินขอบคุณเจ้าของบ้าน → เจ้าของบ้านสามารถเรียกเก็บเงินส่วนนี้จากผู้เช่าได้โดยไม่ผิดกฏหมาย และส่วนใหญ่เงินให้เปล่านี้จะเท่ากับค่าเช่าห้อง 1-2เดือน แต่ว่าปัจจุบันก็มีหลายๆเจ้าที่ล้มเลิกการเก็บเงินส่วนนี้แล้วก็มีค่ะ

敷金(Shikikin) คือ เงินค่าประกันความเสียหายของห้อง → เป็นเงินค่าประกันความเสียตอนเราจะย้ายออกจากห้องไปอยู่ที่อื่น หากมีการชำรุดเสียหายตรงไหนก็จะหักจากเงินส่วนนี้ไปซ่อมแซม โดยปรกติแล้วหากไม่มีอะไรเสียหายก็จะถูกหักเฉพาะค่าทำความสะอาดที่เหลือก็จะคืนให้เจ้าของห้อง ค่าเงินประกันนี้ส่วนใหญ่จะเท่ากับค่าเช่าห้อง 1-2เดือน(ขั้นต่ำ) บางแห่งก็อาจจะเท่ากับค่าเช่าห้อง 3 เดือนขึ้นไปก็มีแล้วแต่ที่

保証料(Hosho Ryo) หมายถึง ค่าค้ำประกัน(บริษัทค้ำประกัน) → เป็นค่าประกันหากเกิดกรณีเจ้าของห้องไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องได้ เป็นเงินให้เปล่า ไม่ได้คืน เงื่อนไขแล้วแต่ที่ ซึ่งผู้เช่ากับบริษัทรับค้ำประกันต้องทำสัญญากันอีกทีค่ะ
โดยปรกติแล้วจะเสีย 3%ของค่าเช่า, 5%ของเค่าเช่า หรือ เท่ากับ 1 เดือนเลยก็ได้แล้วแต่บริษัท จ่ายปีละครั้ง (เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าห้อง)
(*ถ้าใครมีผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลน่าเชื่อถือได้ก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยจะมีใครค้ำประกันให้กันง่ายๆ)

อื่นๆ<その他>

火災保険料(HKasai hoken-ryo) หมายถึงค่าประกันอัคคีภัยและน้ำรั่วต่างๆ →ซึ่งเป็นปรกติของการเช่าห้อง โดยจำเป็นต้องทำประกัน 2 ปีต่อครั้ง หากเป็นห้องพักขนาดคนเดียว ราคาประมาณ 15000 เยน ~ 20000 เยน

更新料(Koshin-ryo) หมายถึง ค่าเปลี่ยนสัญญา → การเช่าบ้านส่วนมากจะเป็นสัญญา 2 ปีแล้ว เมื่อครบ 2 ปีก็จำเป็นต้องทำสัญญาใหม่ โดยจะค่าเปลี่ยนสัญญาเท่ากับ 1 เดือนของค่าเช่าห้อง (บางที่ก็อาจจะไม่มีก็ได้)

**ห้องพักที่มีการเขียนไว้ว่า ค่าประกันความเสียหาย 0 เยน ค่าให้เปล่า 0 เยน ค่าจัดหาห้องของบริษัทจัดหาบ้าน 0 เยนให้พึงระวังไว้ให้ดี!**

เวลาหาห้องพักที่ญี่ปุ่นเคยแปลกใจบ้างมั้ยค่ะว่าทำไมบางที่มีค่าใช้จ่ายค่าแรกเข้าแพง บางที่ไม่แพงเลย?

ในญี่ปุ่นห้องพักที่ตั้งอยู่สถานที่ยอดฮิต สะดวกสบาย น่าอยู่ หาคนมาเช่าอยู่ไม่ยากเลย ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ห้องพักบริเวณนั้นมีการตั้งราคาค่าแรกเข้าไว้แพง จะมี ค่าประกัน ค่าให้เปล่า และค่าจัดหาห้องอยู่แล้ว โดยไม่แปลกใจ แต่!หากห้องพักที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังที่กล่าวมา แต่เสียค่าแรกเข้าน้อยมาก เช่น เสียค่าประกัน 0 เยน ค่าให้เปล่า0เยน และค่าจัดหาห้อง 0 เยน อย่าพึ่งดีใจไปนะคะ เพราะอาจจะมีเงื่อนไขซ่อนไว้ เช่น ตอนเราย้ายออกจากห้อง เจ้าของอาจจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของห้องและจะเรียกเก็บตังค์เราทีหลัง ก็มี หรือ อาจจะมีคดีอะไรหรือเปล่า ถึงรีบให้คนเช่า ให้รีบตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยแล้วรีบสอบถามเจ้าหน้าที่ว่ามีสาเหตุอันใดถึงได้มีราคาถูก

เคยได้ยินคนญี่ปุ่นพูดให้ฟังว่า กรณีเสียค่าประกัน 0 เยน ค่าให้เปล่า 0 เยน และค่าห้องนั้นถูกแสนถูก ส่วนใหญ่อาจจะเป็นเพราะห้องขายไม่ออกเนื่องจากเคยเกิดคดีเกิดขึ้นในห้องนั้นหรืออาคารนั้นก็เป็นได้ ให้สอบถามก่อนเลยว่าเคยมีเหตุการณ์แบบนั้นหรือไม่ด้วยก็ดีนะคะ

② ขนาดห้อง และตำแหน่ง

●ตำแหน่งที่อยู่ของห้องพัก

ดูว่าจากห้องที่เราจะเช่ากับที่ทำงาน หรือโรงเรียน มีระยะทางไกลมากน้อยแค่ไหน

โดยค้นหาเส้นทางหลักที่สามารถใช้เดินทางไปทำงานหรือไปเรียนได้สะดวก ซึ่งปรกติดแล้วยิ่งสถานีรถไฟที่อยู่ห่างไกลความเจริญไปมากเท่าไหร่ ราคาค่าห้องก็จะถูกลงตามด้วย ซึ่งหากเป็นหนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเน้นที่สามารถเดินทางได้สะดวกไม่ต้องเปลี่ยนรถบ่อย เนื่องจากต้องหางานอะรุไบ หรือหารายได้พิเศษระหว่างเรียน

●ประเภทห้อง

ประเภทห้องที่เหมาะแก่การเช่าอยู่คนเดียวของนักศึกษาในญี่ปุ่นมีดังนี้

1room

1R(ワンルーム)  คือห้องที่รวมห้องครัวและห้องนอนรวมกัน

1K

1K คือ ห้องที่แยกระหว่างห้องนอนและห้องครัว โดยมีประตูกั้นระหว่าง  แต่ความกว้างก็ไม่ต่างกับ ワンルームเท่าไหร่นัก

1DK

1DK คือ ห้องที่มี ห้องนั่งเล่นรวมกับห้องครัว และมีนอนแยกออกมาอีก

1LDK

1LDK ห้องนั่งเล่นกว้าง แยกกับห้องครัว และมีห้องนอน  เหมาะกับ พัก 2 คนมากกว่า แต่ถ้า 1 คนก็เหมาะมาก

3. จากนั้นก็ค้นหาห้องตามเน็ตต่างๆได้เลย

 

apartment11apartment16apartment20

คราวนี้เราก็มาเริ่มหาห้องพักตามเว็ปไซต์ต่างๆตามเน็ตกันเลยค่ะ เพื่อจะเราจะได้ดูข้อมูลห้องพักที่เราอยากจะไปดูจริง ให้เลือกและรวบรวมห้องพักที่ถูกใจไว้ และให้ดูหลายๆที่เปรียบเทียบราคาด้วยโดยค้นคำว่า 家賃相場

หรือ ค้นจากเว็ปไซต์หาห้อง โดยเข้าไปเลือกจังหวัด แล้วก็เลือกเมือง เขต หรือสถานีรถไฟ ที่ต้องการจะเช่า
จากนั้นก็เลือกเงื่อนไขต่างๆ เช่น ราคา ห่างจากสถานีรถไฟกี่นาที ห้องขนาดเท่าไหร่ อาคารกี่ชั้น ห้องน้ำแยกกับห้องอาบน้ำหรือเปล่า เป็นต้น ให้หลายๆที่นะคะ จะได้เอามาเปรียบเทียบขนาดของห้องและราคา

แนะนำเว็ปไซต์ หาห้องพักให้ดูพร้อมรายละเอียดต่างๆ

ไปที่เว็ปSUUMO

ไปที่เว็ปHOME`S

ไปที่เว็ปABLE(エイブル)

ไปที่เว็ปABLE(エイブル) สำหรับนักเรียน

ไปที่เว็ปAPAMANSHOP

ไปที่เว็ปLEOPALACE21(レオパレス21)

ไปที่เว็ปCHINTAI

4.  สอบถามกับทางบริษัทจัดหาบ้าน

 

เมื่อได้ห้องที่ถูกใจแล้ว คราวนี้เราก็ทำการสอบถามบริษัทจัดหาห้องพัก ทางเมล์หรือทางโทรศัพท์ค่ะ  ควรหาบริษัทจัดหาห้องพักที่ไว้ใจได้ และดูหลายๆบริษัทเพื่อเป็นการเลือกและเปรียบเทียบ

5.วนดูห้องพักกันเลย

เมื่อเราได้ไปพบพนักงานบริษัทจัดหาห้องพักแล้วและคิดว่าอยากจะไปดูบ้านหลังที่เราชอบ พนักงานก็จะพาเราไปวนดูห้องพักจริง เมื่อเราไปถึงห้องพักเพื่อความไม่ประหม่า ให้เรามาเช็ค 3 อย่างคือ ดูความเรียบร้อยของห้อง เช็คดูลัษณะภายนอกของอาคารโดยรวม เช็คบริเวณรอบๆโดยประมาณ

①เช็คดูความเรียบร้อยของห้อง
apartment2
เช็คความเรียบร้อยภายในห้อง เช่น

-อากาศถ่ายเทสะดวกหรือเปล่า แสงอาทิตย์ส่องถึงหรือเปล่า เสียงรบกวนจากรถไฟหรือเปล่า และความกว้างของห้องเหมือนตามที่เราเห็นในรูปหรือเปล่า

-หน้าต่างมีกี่บาน ความกว้างของหน้าต่าง

-ห้องครัวและห้องอาบน้ำมีหน้าต่างหรือเครื่องดูดอากาศหรือเปล่า

-มีระเบียงหรือเปล่า และดูว่าระเบียงดูเป็นส่วนตัวและปลอดภัยหรือปล่าถ้าดูจากถนนด้านล่าง

-มีปลั๊กไฟกี่จุด ดูตำแหน่งปลั๊กเสียบทีวี ตำแหน่งโทรศัพท์ เป็นต้น

– มีที่วางตู้เย็น ที่วางเครื่องซักผ้า แนะนำให้นำที่วัดไปวัดขนาดด้วย

-ตู้เก็บของมีขนาดใหญ่แค่ไหน สูงแค่ไหน ใช้งานง่ายหรือเปล่าจุของได้แค่ไหน

-เช็คก๊อกน้ำ การไหลของน้ำว่าแรงแค่ไหน และห้องครัวมีอ่างล้างหรือเปล่า และที่เก็บอุปกรณ์เครื่องครัวหรือเปล่า ดูจุกจิกแต่ว่เป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียวในการใช้ชีวิตประจำวัน

-อุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น แอร์ เตาแก๊ส และหลอดไฟต่างๆมีหรือเปล่า เช็คดูว่าแอร์นั้นใช้งานได้หรือเปล่า ที่กดกริ่ง ใช้งานได้ดีหรือเปล่า ให้ทดสอบด้วย

-ภายในห้อง ตรวจสอบพื้นห้อง ว่าเป็นแบบไหน ทำความสะอาดได้ง่ายหรือเปล่า

หากมีตรงไหนที่มีรอยเปื้อน หรือมีรอยตำหนิ ก่อนเข้าอยู่จริงต้องเรียกร้องให้เจ้าของบ้านซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนจะดีที่สุดค่ะ

②เช็คดูลักษณะอาคารภายนอก
apartment1

เมื่อเราเช็คความเรียบร้อยของภายในห้องเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็มาดูลักษณะอาคารภายนอกทั้งหลังกันค่ะ

-หากใครนึกถึงเรื่องความปลอดภัยให้เช็คว่ามีกล้องวงจรปิดหรือประตูอัตโนมัติหรือไม่

-ดูบรรยากาศรอบๆอาคารว่าเป็นพื้นที่แบบไหน เป็นพื้นที่อับ หรือเปล่าเปลี่ยวหรือไม่

-ดูพื้นที่ใช้ส่วนรวมหน้าอาคาร ทางเดินระเบียง มีขยะกองหรือเปล่า หรือมีของส่วนตัววางหรือไม่ ทำความสะอาดหรือเปล่า

-มีที่จอดรถจักรยานหรือไม่ เสียค่าใช้จ่ายหรือฟรี มีเนื้อที่ขนาดไหน มีหลังคาหรืเปล่าเป็นต้น

-มีลิฟท์หรือไม่ในกรณีที่สูงกว่า 5 ชั้นเป็นต้นไป ถ้าต่ำกว่านั้นส่วนใหญ่จะไม่มีลิฟท์

-จุดวางขยะมีลักษณะอย่างไร ดูว่าผู้พักอาคารนี้ได้ทำตามกฏกติกาหรือไม่

เป็นต้น

③เช็คบริเวณรอบๆ

ห้องพักที่อยู่เราต้องการพักต้องดูด้วยว่ามี สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร

โดยการให้ลองเดินไปดูตอนกลางวันในบริเวณนั้น และพอตกเย็นก็ไปเดินดูในตอนกลางคืนอีกที เพื่อจะเห็นข้อแตกต่าง และสภาพแวดล้อมที่แท้จริงนั่นเอง ให้เราเช็คดังนี้

-เช็คดูว่าเดินทางจากที่พักไปสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดใช้เวลาเท่าไหร่

-สถานีรถไฟที่อยู่ใกล้สุดในเวลากลางคืน มีความสว่างมากน้อยแค่ไหน มีคนใช้มากน้อยแค่ไหน/ บรรยากาศที่หน้าสถานีรถไฟเป็นอย่างไร ครึกครื้น คนเยอะ หรือแสงสว่างเพียงพอมั้ย

-มีรถบัสหรือเปล่า / ที่หน้าสถานีรถไฟมีที่จอดรถจักรายานหรือเปล่า เสียค่าใช้จ่ายหรือฟรี เป็นต้น

สิ่งที่ควรมีอยู่ใกล้ห้องพักแล้วทำให้ชีวิตดีดี๊คือ
スーパーマーケット3

-ซุปเปอร์มาร์เก็ต
-คอมบินี ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา
-ห้องสมุด / ร้านหนังสือ
-สถานพยาบาล
-ที่ทำการไปรษณีย์
-ร้านอาหาร ร้านเบนโต
เมื่อเช็คทุกอย่างแล้วตกลงตัดสินใจว่าจะเอาห้องนี้ล่ะ ขั้นตอนต่อไปคือ

6.  ดำเนินการลงทะเบียน ทำสัญญากัน申し込み・契約をしよう
apartment8

หลังจากที่เราตัดสินใจว่าจะเอาห้องนี้ ก็จะเริ่มดำเนินการทำสัญญาเช่าห้องพักกัน โดยอาจจะมีการต่อรองราคากัน เช่นขอลดราคา ขอลดในส่วนของเงินให้เปล่า ขอให้ติดโน่นนี่ให้เพิ่ม ซ่อมจุดโน้นจุดนี้ให้หน่อย เป็นต้น ที่เราเห็นว่าน่าจะต่อรองได้ แต่หากห้องพักนั้นมีผู้สนใจเยอะก็จะยากที่จะต่อรองได้ เพราะถึงอย่างไร สุดท้ายเจ้าของบ้านก็จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้เราเช่าห้องหรือไม่ และที่แน่นอนที่สุดคือ ถ้าผ่านการพิจารณาจำเป็นต้องทำสัญญา แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เป็นเงื่อนไขสำคัญซึ่งบางทีถ้ามีคนสนใจหลายคน ไม่แน่เจ้าของบ้านอาจจะให้คนที่ไม่เรียกร้องอะไรไปก็ได้ หากเรียกร้องมากไปก็อาจจะทำให้เจ้าของบ้านหนีถอยก็เป็นได้

**สิ่งสำคัญคือ ต้องเตรียมเอกสารให้ครบก่อน เพื่อให้เจ้าของบ้านได้พิจารณาค่ะ

สิ่งที่ควรรูว่าตอนสมัครไปจนถึงทำสัญญา
apartment22

หลังจากสมัครแล้ว ทางเจ้าของบ้านจะมีการตรวจสอบว่าผู้เช่ามีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าหรือไม่ โดยดูจากเงินฝากธนาคาร หรืองานที่ทำ จึงจำเป็นต้องเตรียมเอกสารดังนี้คือ

เอกสารจำเป็นที่ต้องใช้ในการทำสัญญา

●บัตรประจำตัวประชาชนคนต่างชาติ

●อินคัน ตราปั๊มชื่อแทนลายเซ็นต์ผู้เช่า

●ชื่อและที่อยู่ที่ทำงานของผู้จะเช่า/ใบรับรองการทำงานของผู้เช่า

●ระยะเวลาการเข้าทำงาน

●ใบรับรองรายได้ (เอกสารเสียภาษี, เอกสารภาษีที่คืนมา  )

●กรณีเป็นนักเรียนนักศึกษาให้ถ่ายเอกสารบัตรประจำตัวนักเรียนนักศึกษา

●ใบค้ำประกันของบริษัทค้ำประกัน(เอกสารเงื่อนไขต่างๆที่บริษัทค้ำประกันได้เซ็นต์ยินยอม)

*กรณีผู้ค้ำประกันเป็นคนญี่ปุ่นบุคคลธรรมดาค้ำประกัน ต้องโชว์รายได้ ทะเบียนบ้านญี่ปุ่น และปั๊มตราปั๊มอินคันด้วย

*กรณีผู้ค้ำเป็นบุคคลธรรมเป็นชาวต่างชาติแต่มีวีซ่าถาวร ต้องโชว์รายได้ บัตรประจำตัวประชาชนต่างชาติ และปั๊มตราปั๊มอินคันด้วย

*ถ้ากรณีผู้ค้ำเป็นบริษัทค้ำประกัน ตัวผู้เช่าจำเป็นต้องแสดงรายได้, บัตรประจำตัวประชาชนต่างชาติ และเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน อาจจะเป็นคนญี่ปุ่นหรือต่างชาติที่มีวีซ่าถาวรก็ได้

7. ขั้นตอนการย้ายบ้าน

apartment27

ช่วงเดือน มีนาคมและเดือนเมษายนเป็นช่วงเทศกาลย้ายบ้านของคนญี่ปุ่น ทำให้ค่าย้ายบ้านราคาสูงและอาจจะไม่สามารถจองเนื่องจากมีคนจองเต็มแล้วก็เป็นได้ หากอยากประหยัดงบประมาณ ให้หลีกเลี่ยงช่วง 2 เดือนที่กล่าวมาจะดีที่สุด และ ควรขนช่วงเช้าของวันธรรมดาจะได้ราคาที่ถูกกว่าเวลาอื่น หากใครที่อยู่คนเดียวข้าวของมีไม่เยอะก็อาจจะใช้ส่งไปรษณีย์เอาก็ได้ ราคาไม่แพง หรือจะใช้เพื่อนที่มีใบขับขี่เช่ารถยนต์และช่วยขนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งค่ะ
แต่หากจำเป็นต้องใช้บริษัทขนย้ายของเนื่องจากของเยอะ จำเป็นต้องติดต่อบริษัทก่อนล่วงหน้า
ควรหาหลายๆบริษัทเพื่อให้ประเมินราคา และเปรียบเทียบ แต่ปัจจุบันก็สามารถประเมินจากในเน็ตก็ได้แล้ว โดยใส่ที่อยู่ของห้องพักที่เก่าและที่ใหม่ และจำนวนของเป็นต้น

ข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินราคาคือ
-วันเวลาที่จะย้าย
-ปริมาณสิ่งของ, ขนาดของเฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้ามีกี่ชิ้น
-ที่อยู่ของที่อยู่ปัจจุบันและที่อยู่ใหม่ เพื่อดูระยะทาง
-มีลิฟท์หรือไม่ อยู่ชั้นไหน ถ้าชั้นสูงแต่ไม่มีลิฟต์ราคาก็จะสูงตาม
-ความกว้างของถนนหน้าอาคาร รถ 2 คันผ่านได้หรือไม่ หรือ ผ่านได้ แค่ 1 คันเป็นต้น
-มีของที่ต้องระวังเป็นพิเศษหรือไม่
-ผู้เช่าเป็นคนเก็บข้าวของเอง หรือจะให้บริษัทขนย้ายเก็บให้
-จะให้ทางบริษัทขนของทำการประกอบอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ หรือไม่

เตรียมตัวขนย้ายของ

หากเราเลือกบริษัทขนย้ายได้แล้ว!
apartment28
บริษัทจะส่งกล่องใส่เสื้อผ้าตามจำนวนที่ได้ระบุไป และ เทป เชือก และสติกเกอร์สีแดงระวังของแตก มาให้ เราก็เริ่มเก็บข้าวของตามลำดับดังนี้

  1. โดยปรกติไม่ค่อยใช้แล้ว
  2. เสื้อผ้าตามฤดูกาล หนังสือ งานอดิเรก
  3. ของใช้ที่ใช้เป็นประจำ

*หมายเหตุ

-สิ่งของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วทิ้งไป หรือขายตามรีไซเคิ้ล  หนังสือเก่าก็ขายร้านหนังสือ

-สอบถามบริษัทขนของว่ามีบริการทิ้งสิ่งของที่ไม่ใช้ให้ฟรีหรือไม่ ถ้าเสียจะเสียเท่าไหร่

-เมื่อบรรจุของให้ในกรณีที่มีกล่องไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษให้ติดสติกเกอร์สีแดงระวังของแตก ที่บริษัทขนของส่งมาให้พร้อมกล่องใส่ของ

apartment29
แล้วรอวันที่จะย้ายห้องกันเลย

8. สิ่งที่ต้องทำตอนจะย้ายห้องพักใหม่

เมื่อตัดสินใจจะย้ายเข้าไปห้องพักใหม่

สิ่งที่ควรทำไว้ก่อนย้าย

  • 転出届(Tenshutsu-todoke)-ไปที่ว่าการอำเภอ โดยนำใบID บัตรประจำตัวประชาชนชาวต่างชาติ หรือพาสปอร์ต อินคันไปด้วย ให้ไปดำเนินการย้ายออกจากห้องที่พักปัจจุบัน เสร็จแล้วเราก็จะได้รับใบย้ายออกจากทางอำเภอ
  • 国民年金・国民健康保険の手続き(Kokumin nenkin kokumin kenkohoken no tetsudzuki)-ให้ดำเนินการย้ายเอกสารบำเหน็จบำนาญ,ใบประกันสังคมหรือเอกสารสำคัญต่างๆ
  • 郵便物の転送届(Yubinbutsu no tenso-todoke)-ไปดำเนินการเรื่องเปลี่ยนที่อยู่ที่ว่าทำการไปรษณีย์ เพื่อให้ส่งไปยังที่อยู่ใหม่ทั้งหมด
  • 電気・ガス・水道の手続き(Denki ・gasu・suido no tetsudzuki)-ต้องโทรไปดำเนินการปิดทำการจ่ายไฟฟ้า แก๊ส และน้ำประปาด้วยตัวเอง เบอร์โทรศัพท์จะมีอยู่ในเอกสารที่ทางเจ้าของบ้านยื่นให้ตั้งแต่แรกเข้า *แก๊สจะมีพนักงานมาปิดให้และต้องจำเป็นต้องมีลายเซ็นต์
  • ให้ดำเนินการเปลี่ยนที่อยู่ สถาบันการเงิน บริษัทเครดิตการ์ด บริษัทมือถือที่เราใช้บริการ ทีวีNHKเป็นต้น ดำเนินการสิ่งที่จำเป็นก่อน
  • ให้เตรียมประกอบหลอดไฟ และผ้าม่านก่อนเข้าย้ายให้เรียบร้อย เพื่อไปถึงวันแรกของการย้าย จะได้มีไฟฟ้าใช้ และผ้าม่านปิดกั้น เพื่อไม่ให้คนภายนอกเห็นข้างในห้องเรานั่นเอง

สิ่งที่ควรทำหลังจากย้ายเข้าบ้านแล้ว

  • 転入届(Tennyutodoke)-หลังเข้าจากย้ายเข้าไปอยู่ห้องใหม่แล้ว ให้รีบดำเนินการที่ว่าการอำเภอ ไม่เกินภายใน 14 วัน โดยนำใบย้ายที่ได้รับจากที่ว่าการอำเภอเก่ารวมทั้งนำเอกสารยืนยันตัวตนเช่นบัตรประจำตัวประชาชนต่างชาติ และ อินคัน นำติดตัวไปเพื่อดำเนินการย้ายเข้า
  • 国民年金・国民健康保険の手続き(Kokumin nenkin kokumin kenkohoken no tetsudzuki)-ให้ดำเนินการย้ายให้ดำเนินการย้ายเอกสารบำเหน็จบำนาญ,ใบประกันสังคมหรือเอกสารสำคัญต่างๆ
  • โทรศัพท์หาที่ว่าการไฟฟ้า แก๊ส ประปา เพื่อให้เปิดใช้งานที่ใหม่ แก๊สจะต้องรอเจ้าหน้าที่มาเปิดแก๊สให้และเราต้องเซ็นต์ชื่อ

การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มในญี่ปุ่นสิ่งที่ต้องห้ามที่ควรรู้ว่าและใส่ใจคือ

-ไม่ส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน

-ไม่เปิดเพลงเสียงดัง เพื่อไม่ให้โดนเคลมให้หลีกเลี่ยงเปิดเสียเพลงกลางดึกและเช้าตรู่

-ทักทายคนช้างห้อง เจอกันหน้าลิฟท์ก็ทักทาย สวัสดี ถามไถ่ว่าเราเสียงดังหรือเปล่า

-ทิ้งขยะ ทำตามกฏ

แยกขยะให้ถูกต้อง อันไหนขยะแห้ง ขยะเปียก ขยะเผาได้ ขยะรีไซเคิ้ลเป็นต้น ให้ทำตามกฏ
นอกจากนี้จำเป็นต้องรู้ด้วยว่า ขยะไหนทิ้งวันไหน โดยปรกติจำเป็นต้องทิ้งตอนเช้าตรู่ก่อนเจ้าหน้าที่ขนของจะมาขนของ และไปวางไว้ที่จุดทิ้งขยะตามที่วางไว้  ขยะเผาได้ เป็นขยะที่ต้องห้ามวางก่อน หนึ่งวันเพราะที่ญี่ปุ่นจะมีกาดำที่คอยจิกของเน่าเสีย ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นและสกปรก ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด

เพียงแค่นี้คุณจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ได้อย่างสบายใจสบายกายแล้วค่า

คำศัพท์สำคัญที่อยากแนะนำในการค้นหาห้องพัก

駅・路線から探す(Eki rosen kara sagasu) ค้นจากสายรถไฟและสถานีรถไฟ
地域から探す (Chiiki kara sagasu) ค้นจากจากเขตหรือเมือง
路線を選択してください(Rosen o sentaku shite kudasai) กรุณาเลือกสายรถไฟ
駅を選択してください (Eki o sentaku shite kudasai) กรุณาเลือสถานีรถไฟ
検索条件の設定・変更 (Kensaku joken no settei henko) ตั้งค่าเงื่อนไขการค้นหา เปลี่ยนแปลง
詳細条件 (変更する)(Shosai joken (henko suru )) ลายระเอียดเงื่อนไข (ทำการเปลี่ยนแปลง)
賃料 (Chinryo) ค่าห้อง
共益費(Kyōeki-hi) ค่าส่วนกลาง/管理費を含む(Kanri-hi o fukumu) ค่าจัดการ
敷金(Shikikin) ค่าประกันความเสียหาย
礼金(Reikin) ค่าให้เปล่า/ค่าขอบคุณ
専有面積(Sen’yū menseki) ขนาดของห้อง
間取り(Madori) แปลนห้อง
駅徒歩分(Eki toho-bun) เดินจากสถานีรถไฟ/นาที
築年数(Chikunensū) อายุของตึกนี้
建物構造 (Tatemono kōzō)โครงสร้างของตึก
画像 (Gazo)รูปภาพ / 図面あり(Zumen ari) มีแผนผัง /その他画像あり /パノラマ画像ありPanorama gazō ari
こだわり条件 (Kodawari jōken) เงื่อนไขพิเศษ
位置 Ichiสถานที่ต้ัง
1階の物件 (Ikkai no bukken) ห้องที่อยู่ชั้น 1
2階以上 (Ni Kai ijo) ห้องที่อยู่ชั้น 2 ขึ้นไป
最上階 (Saijokai) ห้องที่อยู่ชั้นบนสุด
角部屋 (kado beya) ห้องที่อยู่มุม
南向き (minami-muki) ห้องที่อยู่ทางทิศใต้
条件Jōken เงื่อนไข
楽器相談Gakki sōdan เครื่องดนตรีสามารถปรึกษาได้
事務所可Jimusho-kaอนุญาตให้เปิดสำนักงานได้
二人入居可(Futari Nyukyo-ka) สามารถเข้าอยู่ 2 ท่านได้
女性限定(Josei gentei) จำกัดเฉพาะผู้หญิง
高齢者歓迎(Korei-sha kangei) ต้อนรับผู้สูงอายุ
ペット相談可(Petto sodan-ka) สามารถปรึกษาเลี้ยงสัตว์ได้
ルームシェア可(Rumushea-ka) รูมแชร์ได้
フリーレント(Furirento) ไม่มีค่าเช่า (Free rent)
保証人不要 (Hoshonin fuyo) ไม่จำเป็นต้องมีคนค้ำประกัน
キッチン (Kitchin)ห้องครัว
ガスコンロ設置済 (Gasukonro setchi sumi) เตาแก๊สที่ประกอบเรียบร้อยแล้ว
バス・トイレBasu toire ห้องสุขาและห้องอาบน้ำ
バス・トイレ別 Basu toire-betsu ห้องสุขา และห้องอาบน้ำแยกกัน
浴室乾燥機 (Yokushitsu kanso-ki) เครื่องดูดอากาศ
洗面所独立(Senmenjo dokuritsu)ที่ล้างมือแยกต่างหาก
室内洗濯機置場(Shitsunai sentakuki okiba) มีจุดวางเครื่องซักผ้าภายในห้อง
セキュリティ(Sekyuriti)ระบบความปลอดภัย
オートロック(Otorokku) ประตูล็อคอัตโนมัติ
防犯カメラ(Bohan kamera) กล้องวงจรปิด
TVモニタ付インターホン(TV monita-tsuki intāhon) มีกล้องทีวีมอร์นิเตอร์
管理人常駐(Kanrinin jochu)ผู้ดูแลบ้าน
宅配ボックス(Takuhai bokkusu) กล่องรับพัสดุ
冷暖房 (Reidanbo)แอร์ ดันโบ
設備・サービス(Setsubi sabisu)อุปกรณ์ การบริการ
都市ガス(Toshi gasu)แก๊ส(เมือง)
フローリング(Furoringu)ห้องปูพื้นไม้
バルコニー(Barukoni)ระเบียง
ロフト付き(Rofuto-tsuki) ห้องสไตล์ลอฟท์
エレベーター(Erebeta) ลิฟต์
駐車場・駐輪場 (Chushajo churinjo) ที่จอดรถยนต์ ที่จอดจักรยาน

 

Leave a Reply