มารู้จัก การทิ้งขยะในญี่ปุ่น หนึ่งในจุดเด่นของประเทศญี่ปุ่น กันเถอะ
หนึ่งในจุดเด่นของประเทศญี่ปุ่นที่คนไทยไปเมื่อไหร่เป็นอันต้องเอ่ยปากชม
นั้นก็คือเรื่องความสะอาด ขยะตามถนนหนทางตรอกซอกซอยก็ไม่มีให้เห็น อาจจะมีบ้างในสถานที่ที่พลุกพล่านมากๆแต่ก็สกปรกอยู่ไม่นานก็จะมีคนมาทำจัดการ ถังขยะที่วางๆอยู่ตามท้องถนนก็ไม่เคยว่าจะเต็มจนล้นออกมาเหมือนบ้านเราเลย อยากรู้ไหมคะว่า การทิ้งขยะในญี่ปุ่น มีวิธีจัดการกับปัญหาพวกนี้ยังไง
อย่างแรกคือ คนญี่ปุ่นถูกปลูกฝังให้แยกขยะ มาตั้งแต่เด็ก ทุกๆบ้านเมื่อถึงเวลาเก็บขยะ เค้าจะแยกเป็นถุงๆวางไว้อย่างเรียบร้อยโดยการแยกของเค้าจะแบ่งเป็น 5 ประเภท นั้นคือ
- ขยะเผาได้ (燃やすごみ)ขยะประเภทนี้เป็นขยะที่ชิ้นจะไม่ใหญ่มาก ทำจากวัสดุธรรมชาติ จะต้องสามารถบรรจุลงได้ในถุงพลาสติกที่รัฐกำหนด ขนาด 2 ลิตร หรือ 3 ลิตร ได้ถ้าเป็นขยะที่เผาได้แต่ขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะบรรจุลงถุงมาตรฐานนี้ จะถือว่าเป็นขยะขนาดใหญ่ ต้องแยกออกไปต่างหาก หรือซื้อถุงขยะขนาดใหญ่ ประเภทถุงดำเนื้อหนา มาบรรจุให้เรียบร้อย ขยะประเภทนี้ยกตัวอย่างเช่น เศษอาหาร ถุงกระดาษ แก้วกระดาษ เป็นต้น
2.ขยะรีไซเคิล (資源ごみ)ขยะประเภทนี้ก็ได้แก่ ขวดน้ำพลาสติกต่างๆ กล่องนม กระดาษลัง กระป๋องน้ำผลไม้บางๆ กระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วที่น่าอึ้งกว่านั้นคือ เค้าไม่ได้แค่แยกเฉยๆนะคะ อย่างถ้าเป็นกล่องนมหรือกระดาษลังเนี้ย เค้าจะตัดให้สามารถคลี่ออกได้ วางซ้อนๆกัน มัดแล้วถึงนำใส่ถุง เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ต่อ สุดยอดไหมล่ะคะ
3. ขยะชิ้นใหญ่ (粗大ごみ)ยกตัวอย่างเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้ ที่นอนหมอนมุ้ง ไปจนถึงรถจักรยาน จักรเย็บผ้า ฯลฯ ขยะประเภทนี้ อาจมีทั้งที่เผาได้และเผาไม่ได้ แต่ที่ต้องแยกประเภทออกมาก็เพราะรถเก็บขยะบรรทุกไปไม่ได้ หรือเอาไปเผารวมกับขยะธรรมดาจากครัวเรือนไม่ได้ ขยะประเภทนี้เราต้องไปแจ้งให้ทางรัฐมาขนไปค่ะ หรือไม่ก็ต้องนำไปวางไว้ที่ที่เค้าจัดไว้ให้
4. ขยะเผาไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ่านไฟฉาย น้ำยาต่างๆ เทปคาสเซท แผ่นซีดี เป็นต้น ถ้าในส่วนประกอบของขยะนั้นมีทั้งส่วนที่เผาได้และเผาไม่ได้ จะต้องถือว่าเป็นขยะเผาไม่ได้ ขยะประเภทนี้ต้องจ่ายเงินซื้อถุงขยะที่มีข้อความระบุหน้าถุงชัดเจนว่า “ขยะเผาไม่ได้”
5. ขยะอันตราย เช่น ภาชนะต่างๆที่บรรจุสารเคมีที่เป็นพิษ ขยะติดเชื้อ (ขยะโรงพยาบาล) กระป๋องที่มีหัวฉีดแบบสเปรย์ ซึ่งอาจระเบิดได้ และขยะที่ถือเป็นวัตถุระเบิด เช่น ดอกไม้ไฟ แก๊สกระป๋อง รวมทั้งแบตเตอรี่ (dry cell) หลอดฟลูออเรสเซนต์ และขยะประเภทของมีคม เช่น มีด เศษแก้วแตก หรือเศษวัสดุแหลมคมต่างๆ ฯลฯ
มาทำความเข้าใจกับการแยกขยะของประเทศญี่ปุ่นกันเถอะค่ะ ประเทศญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทักทายกันในแต่ละช่วงเวลา การดูแลเอาใจใส่คนรอบข้าง ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ รวมไปถึงการแยกขยะกันเลยทีเดียว จะขออธิบายเป็นประเภทการทิ้งขยะตามที่อยู่อาศัยนะคะ ซึ่งที่อยู่อาศัยจะมีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้ค่ะ
1.ประเภทบ้านพัก
การจะทิ้งขยะได้นั้นอันดับแรกต้องตื่นแต่เช้าค่ะ เหมือนเป็นการหัดให้คนญี่ปุ่นตื่นเช้าไปในตัวด้วย ซึ่งต้องนำขยะใส่ในถุงให้เรียบร้อย และต้องนำไปทิ้งในโซนที่กำหนดไว้ให้ก่อนที่รถจะมาเก็บไปและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งตารางวันเวลาการทิ้งขยะในแต่ละปีนั้นจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละเขตอีกด้วย แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะจำไม่ได้นะคะเพราะเขาจะมีคู่มือการทิ้งขยะให้ค่ะ อย่างเช่นของเมือง ทสึคิชิมะ (Tsukishima) ที่อยู่ในเขตโตเกียว
วันอังคาร,ศุกร์ ขยะประเภทเผาได้ เช่น ขยะสด เศษอาหารที่เน่าเหม็น เศษไม้
วันพุธ ขยะประเภทรีไซเคิล เช่น กระดาษต่างๆ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ (ต้องมัดรวมก่อนนำไปทิ้ง) พวกกล่องนม (ต้องตัดแล้วล้างรวมกันไว้นะคะ) และขยะประเภทขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง (ต้องนำฉลากออกก่อน แล้วล้างข้างในให้เรียบร้อย แยกฝา และทำขวดกับกระป๋องให้แบนก่อนนำไปทิ้งค่ะ)
วันพฤหัสบดี ขยะประเภทจำพวกพลาสติก เช่น กล่องข้าว ถาดใส่อาหารต่างๆ (ต้องล้างเศษอาหารและของเหลวออกก่อนนำไปทิ้ง)
วันเสาร์ ขยะประเภทเผาไม่ได้ เช่น โลหะ แก้ว เซรามิค อุปกรณ์ไฟฟ้า และขยะที่มีขนาดใหญ่กว่า 30×30 เซนติเมตรขึ้นไป เช่น เครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยาน
2.ประเภทหอพัก อพาร์ทเม้นต์ แมนชั่น
แต่ละคนจะได้คู่มือการทิ้งขยะคนละ 1 เล่มค่ะ แต่ถ้าอยู่หอพักก็ไม่จำเป็นต้องตื่นแต่เช้ามาทิ้งขยะก็ได้นะคะ เพราะจะมีถังขยะอยู่ใต้หอพักรองรับไว้อยู่ และจะมีป้ายแปะไว้ว่าแต่ละถังต้องทิ้งอะไร
และถ้าหากเป็นขยะขนาดใหญ่ ต้องซื้อสติกเกอร์จากร้านสะดวกซื้อมาติด แล้วต้องโทรจองให้รถขยะมารับไป แต่ถ้าเป็นขยะขนาดใหญ่ที่รีไซเคิลได้ อย่างเช่น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ ไม่สามารถซื้อสติกเกอร์มาติดได้นะคะ ต้องโทรไปยังเบอร์โทรของขยะรีไซเคิล และต้องเสียค่าทิ้งขยะด้วยค่ะ
ถ้าอยู่แบบบ้านพักแล้วมาทิ้งไม่ตรงเวลาที่ทางรัฐกำหนดไว้เขาจะไม่เก็บให้นะคะ ก็ต้องรอครั้งต่อไปเลย แล้วถ้าอยู่แบบหอพัก อพาร์ทเม้นต์ หรือแมนชั่นล่ะจะทำอย่างไร? ไม่ต้องกังวลเลยค่ะว่าจะทิ้งไม่ทันเวลาเพราะว่าใต้หอพักจะมีถังขยะรองรับไว้อยู่ ซึ่งจะมีป้ายแปะไว้อย่างละเอียดเลยว่าแต่ละถังต้องทิ้งอะไรบ้าง ซึ่งเราก็แค่แยกขยะให้ถูกประเภท จับใส่ถุงมัดให้เรียบร้อย ล้างทำความสะอาดให้ดีแล้วก็นำลงไปทิ้งได้เลยค่ะ ถ้าเป็นขยะขนาดใหญ่ก็ต้องโทรให้ทางรัฐมารับไปค่ะ
ตรงนี้เป็นโซนทิ้งขยะที่อยู่ใต้หอพักค่ะ
ทุกๆถังจะมีป้ายแปะบอกไว้อย่างละเอียด
บางที่จะเป็นห้องสำหรับไว้ทิ้งขยะโดยเฉพาะค่ะ
ต่อไปเรามาดูกระบวนการทำงานและอุปกรณ์ที่อยู่กับรถขยะกันบ้างดีกว่าค่ะ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
ยางรถยนต์สำรอง(予備タイヤ) ถังดับเพลิง(消火器) แผ่นดันขยะ(排出板) แผ่นที่ทำหน้าคอยดันขยะออกมาจากรถ แผงปุ่มกด(操作パネル) ที่คอยทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของแผ่นกดขยะและที่หมุนขยะ แผ่นกด(プレスプレート)และที่หมุนขยะ(回転板) ทำหน้าที่คอยบีบอัดขยะ แท็งก์เก็บน้ำเสีย(汚水タンク) ทำหน้าที่คอยเก็บน้ำเสียไหลออกมาจากขยะ
วิธีการจัดการกับขยะจะมีอยู่ 3 วิธีด้วยกันค่ะ
วิธีที่ 1 การกด(プレス式) จะทำการกดเป็นจำนวน 2 ครั้ง เพื่อให้ขยะมีขนาดที่เล็กลง และค่อยยัดเข้าไปข้างใน
วิธีที่ 2 การหมุน(回転板式) จะมีแผ่นเหล็กคอยหมุนวนเพื่อดันให้ขยะเข้าไปข้างใน ซึ่งเหมาะกับขยะที่มีขนาดเล็ก อย่างเศษไม้เล็กๆ แต่ไม่เหมาะกับพวกแผ่นเหล็ก
วิธีที่ 3 วงเวียน(ロータリー式) จะเป็นเหมือนกลองทรงกระบอกขนาดใหญ่ จะหมุนอย่างช้าๆ เพื่อส่งขยะเข้าไปข้างใน ซึ่งรูปแบบนี้มีประโยชน์อย่างมาก เพราะเพิ่มปริมาณขยะเข้าไปได้เรื่อยๆ
วิธีการนำขยะออกจากรถมีอยู่ 2 วิธีด้วยกันค่ะ
วิธีที่ 1 การผลัก(押し出し式) แผ่นที่ทำหน้าที่ในการผลักทำจะการผลักขยะออกมาจากด้านใน ซึ่งมีแรกผลักที่สูงมาก จึงทำให้ไม่มีขยะหลงเหลืออยู่
วิธีที่ 2 การดัมพ์หรือยกเท(ダンプ式) จะทำการยกแล้วเทขยะออกมา ซึ่งขยะจะร่วงหล่นลงมาได้อย่างง่ายดาย เหมาะกับพวกขยะขนาดเล็กและเศษไม้
มาดูกันที่รถขยะกันบ้างดีกว่า รถขยะจะมีวันเวลาที่กำหนดอย่างชัดเจน ว่าเค้าจะมาเมื่อไหร่ จะเก็บขยะแบบไหน เช่นเมืองนี้ วันจันทร์ พุธ ศุกร์ อาทิตย์ จะเก็บขยะเผาได้ตอนเวลา สิบโมงตรง ทุกวันอังคารที่สองของเดือนจะมาเก็บ ขยะอันตราย เวลา เก้าโมง แบบนี้เป็นต้น โดยทางรัฐเค้าจะแจ้งข้อมูลตารางการเก็บขยะให้กับคนในเมืองให้รับทราบชัดเจน รถขยะจะออกเก็บขยะทุกวันไม่มีวันหยุด และรถขยะที่นี่ก็มีฝาปิดเรียบร้อยดูสะอาดสะอ้านอีกด้วย
ที่นี่คงรู้แล้วนะคะว่าคนญี่ปุ่นเค้าใส่ใจและจริงจังกับขยะแค่ไหน ทุกอย่างชัดเจนละเอียดเป๊ะๆๆสมกับเป็นคนญี่ปุ่นจริงๆ สุโก้ยยยยยเจแปน
อาจจะดูยุ่งยากไปนิดหน่อย แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆเราก็คุ้นชิน และยังส่งผลดีกับตัวเราเองอีกด้วยนะคะเพราะจะทำให้เราเป็นคนที่มีความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้นค่ะ ที่มีกฎระเบียบการให้แยกขยะเองนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนหรือเพิ่มภาระให้กับคนเก็บขยะค่ะ อย่างที่เคยบอกไว้ด้านบนว่าคนญี่ปุ่นนั้นจะให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง เขาจะไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือลำบากใจค่ะ
japankiku.com